Background



ภาพกิจกรรม
กองสวัสดิการและสังคม อบต.เกาะสาหร่าย จ.สตูล ร่วมอบรม-ฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือเจ็ดชิ้น
92
1 กุมภาพันธ์ 2566

          เมื่อวันที่ (1 ก.พ. 66) ที่เซาท์เทิร์น ลันตา รีสอร์ท ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) เปิดประธานการอบรมเครื่องมือเจ็ดชิ้น พร้อมร่วมบรรยายและฝึกปฏิบัติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและฝึกทักษะการใช้เครื่องมือเจ็ดชิ้นจัดเก็บและจัดการข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาฐานข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ในระดับพื้นที่ตำบล โดยมีนางสาวนูรีน เจะเงาะ นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ , นางสาวมัตติกา หมัดตุกัง พนักงานจ้างเหมาปฏิบัติงานบันทึกข้อมูลนักทรัพยากรบุคคล องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ตลอดจนผู้แทนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ชาวบ้านชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ (ภูเก็ต ระนอง พังงา สตูล และกระบี่) และมูลนิธิชุมชนไทและสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม
          ด้วยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ได้ดำเนินงานตามแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ร่วมกับเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่มีชาวเลและชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัย จำนวน 20 จังหวัด โดยในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดแนวทางแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานกลุ่มชาติพันธุ์ในระดับตำบล
          โดยในการอบรมจัดให้มีการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ และลงพื้นที่ศึกษาและฝึกปฏิบัติ อาทิ หลักการแนวปฏิบัติการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยนายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศมส. , การบรรยายแนวคิดและหลักปฏิบัติการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น ในการศึกษาและจัดก็บข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ โดยนายโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) , การแบ่งกลุ่มกำหนดโจทย์และแนวทางการศึกษาชุมชนชาติพันธุ์โดยใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น และการลงพื้นที่ศึกษาและฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
          สำหรับเครื่องมือเจ็ดชิ้นประกอบด้วย เครื่องมือชิ้นที่ 1 แผนที่เดินดิน : เป็นเครื่องมือสำรวจชุมชนทำให้เข้าใจพื้นที่กายภาพและพื้นที่ทางสังคม ผู้คนมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน เกิดระบบจัดการเชื่อมโยงชุมชนเป็นแผนที่ที่ทำได้ตลอดไม่มีที่สิ้นสุด หากพบข้อมูลใหม่ ๆ ก็นำมาเติมทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้ตามเศรษฐกิจ สังคม ระบบนิเวศในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมกันทำกิจกรรมแผนที่เดินดินโดยจำลองตัวเองเป็นคนที่เข้าไปศึกษาชุมชนสมมติ แล้วทดลองเขียนแผนที่เดินดินขึ้น ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้สังเกตในสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยสนใจ สอบถามทักทาย พูดคุย เห็นพื้นที่ทางกายภาพ เข้าใจพื้นที่ทางสังคมประวัติ เรื่องราว คน สิ่งของ การเปลี่ยนแปลง และได้เห็นขอบเขตชุมชนกับภายนอก ทั้งเครือข่ายที่ยึดโยงในชุมชนและนอกชุมชน โดยมีข้อควรสังเกตคือข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนต้องระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจมีความละเอียดอ่อนนั้นด้วย
          เครื่องมือชิ้นที่ 2 ผังเครือญาติ : เครื่องมือสำรวจชุมชนที่ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอย่างลึกซึ้งผ่านสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เห็นทั้งความสัมพันธ์ทางสายเลือด และการแต่งงาน ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของคนในมิติต่าง ๆ ในชุมชนผ่านครอบครัว เป็นการดึงความสัมพันธ์หลายมิติออกมาให้เห็นและเข้าใจง่ายแม้ว่าความสัมพันธ์เครือญาติซับซ้อนเป็นหลายตระกูลหรือหลายรุ่น ทั้งยังมีประโยชน์ถึงความเป็นเครือญาตินำไปสู่ความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เคล็ดลับการทำผังเครือญาติ ได้แก่ 1) เลือกแหล่งข้อมูลให้ดี แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 2) การลงไปถามหนึ่งครัวเรือนจะได้ข้อมูลไม่ต่ำกว่า 3 ครอบครัว 3) เรามักจะไล่สายเลือดแต่จะไม่เห็นสายดองเพราะฉะนั้นต้องลงให้ครบ โดยเฉพาะในชุมชนชาติพันธุ์ที่มีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสิทธิ เป็นการสร้างหลักฐานอย่างหนึ่ง
          เครื่องมือชิ้นที่ 3 โครงสร้างองค์กรชุมชน : เครื่องมือสำรวจชุมชนที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนมีระบบความสัมพันธ์หลากหลายรวมตัวกันและมีระบบการจัดการในระยะยาว องค์กรชุมชนมีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ถือเป็นศักยภาพและทุนที่สำคัญในการจัดการปัญหาชุมชน ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้การเชื่อมโยงผังโครงสร้างองค์กรชุมชนผ่านการฟังเรื่องเล่า และกลายเป็นการเชื่อมโยงสู่ภาพใหญ่ได้
          เครื่องมือชิ้นที่ 4 ผังระบบสุขภาพ (การวิเคราะห์ทุนและความท้าทายของชุมชน) : เครื่องมือที่ทำให้เห็นปัจจัยเชิงบวกและเชิงลบของชุมชน คือสิ่งที่เรามีและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ กับสิ่งที่ชุมชนกำลังเผชิญ โดยทุนและความท้ายทายแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ/ชีวภาพ ด้านมนุษย์ ด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม/การเมือง ผู้เข้าร่วมอบรมได้ช่วยกันระดมทุนและความท้าทายภายในกลุ่มของตนเอง และวิเคราะห์ถึงผลกระทบของทุนนั้น ๆ ได้
          เครื่องมือชิ้นที่ 5 ปฏิทินชุมชน : แสดงให้เห็นกิจกรรมในชุมชนว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดบ้างในหนึ่งปี และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอะไรบ้างทางสังคม ซึ่งจะทำให้เห็นบริบทความเฉพาะของพื้นที่ เช่น เห็นฤดูมรสุมที่แตกต่างกัน ปัญหาฝุ่นควันภาคใต้ ไฟป่า พิษสุนัขบ้า ไข้เลือดออก การระมัดระวังสึนามิ การประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน งานเมาลิดของชุมชนมุสลิม ช่วงต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมถึงประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ในรอบปี ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้สามารถเตรียมการหรือวางแผนพัฒนาหรือป้องกันระวังภัยวางแผนรับมือล่วงหน้าได้
          เครื่องมือชิ้นที่ 6 ประวัติศาสตร์ชุมชน : เป็นเครื่องมือที่แสดงประสบการณ์และความทรงจำของชุมชน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือสาธารณสุข ซึ่งต้องอาศัยการรำลึกถึงช่วงเวลาสำคัญหนึ่งๆ แล้วแผ่ขยายออกมาเรื่อย ๆ ที่เชื่อมโยงกัน สามารถเขียนเป็นแผนผังให้เข้าใจได้ง่ายว่าเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบอย่างไรต่อชุมชน เหตุการณ์ที่โยงอยู่ในผังประวัติศาสตร์มี 4 แบบ ได้แก่ 1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและปัจจุบันยังดำเนินอยู่ 2.เกิดเหตุการณ์ขึ้นช่วงหนึ่งแล้วหยุดไป 3.เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วหายไปเลย ไม่กลับมาเกิดอีก 4.เหตุการณ์ภายนอกที่ทำให้ชุมชนเกิดผลกระทบประวัติศาสตร์ชุมชนหากมีการนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นมาประกอบจะเห็นพัฒนาการทางสังคมการเมืองทำให้มีหลักฐานในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้ หรือสามารถใช้เป็นต้นเค้าในการสืบค้นเพิ่มเติมได้ เช่น คำบอกเล่า รูปถ่าย เอกสาร ต่อไป
          และเครื่องมือชิ้นที่ 7 ประวัติชีวิต : เครื่องมือที่ช่วยให้เรียนรู้ประสบการณ์เพื่อเข้าใจชีวิตและความเป็นมนุษย์ เขียนจากเรื่องราวมาเป็นเส้นทางชีวิต ผู้เข้าร่วมอบรมจะเห็นข้อมูลจากผู้เล่าเป็นข้อเท็จจริง และสามารถเขียนข้อสังเกตไว้ได้ หลักการสำคัญในการสัมภาษณ์ ได้แก่ 1.เซทโทนให้ดีเริ่มด้วยกานชื่นชม 2.เริ่มชวนสนทนาในเรื่องที่เขาเก่ง เรื่องที่เขาทำ เรื่องที่เขาคุ้นเคย ไม่ใช่เรื่องที่ผู้สัมภาษณ์เก่ง 3.เริ่มต้นที่ผังเครือญาติ 4.ถามให้กลมกลืนไปกับเรื่องที่ผู้ให้สัมภาษณ์เล่า 5.มีใจจดจ่ออยู่กับผู้ให้สัมภาษณ์สามารถทวนคำทวนความกับผู้ให้สัมภาษณ์ให้รู้สึกว่าเขามีความสำคัญเราตั้งใจฟัง ฟังในฐานะที่เป็นเกียรติยศในหน้าที่ของเรา