Background



ภาพกิจกรรม
กองสวัสดิการและสังคม อบต.เกาะสาหร่าย จ.สตูล ร่วมขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบล/เทศบาล ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
98
7 กุมภาพันธ์ 2566

          เมื่อวันที่ (7 ก.พ. 66) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายอำหรน หมัดตุกัง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายการจัดตั้งศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบล/เทศบาล ในจังหวัดสตูล บูรณาการร่วมกับโครงการพัฒนาระบบและขับเคลื่อนกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็ก เพื่อขยายผลการจัดตั้งศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบล/เทศบาล ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดสตูล และสร้างเครือข่ายการคุ้มครองเด็กในระดับตำบล/เทศบาล ให้เด็กได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครอง สวัสดิภาพ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยมีนายเปน ลัดเลีย ประธานสภา นายกุลวัสส์ วิเศษยิ่ง รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย นางสาวนูรีน เจะเงาะ นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ข้าราชการ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
          สถานการณ์ปัญหาด้านเด็กของประเทศไทยมีความรุนแรง เด็กที่ประสบปัญหาและอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงถูกทอดทิ้ง ถูกแสวงหาประโยชน์ หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการขาดความและสวัสดิภาพ ดังนั้น การคุ้มครองป้องกันและให้ความช่วยเหลือเด็กเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากเด็กไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย จะทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อภัยอันตราย มีผลกระทบต่อเด็ก ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะความเสี่ยง รวมทั้งตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เด็กเติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ
          ปัจจุบันจังหวัดสตูล ได้จัดตั้งศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบลแล้ว จำนวน 25 พื้นที่ และในปี พ.ศ.2566 ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก ให้ครบทุกพื้นที่ในจังหวัดสตูลทั้ง 41 อปท. โดยได้มีการทำความเข้าใจในเรื่องของการคุ้มครองเด็ก รวมไปถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ คณะทำงานคุ้มครองเด็กในระดับตำบล ได้ดำเนินการคัดกรองเด็กในแต่ละพื้นที่โดยใช้แบบคัดกรองเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำ (CMST) เพื่อคัดกรองเด็กในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด และเด็กคนไหนควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมส่งเสริม ป้องกันเด็กในพื้นที่ต่อไป